Monday, February 4, 2008

ปราสาทนาคพัน

ปราสาทนาคพัน (ศิลปะแบบบายน พ.ศ.1724-1780)

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นกลางบาราย “ชัยตฏากะ” แต่ในปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเมืองพระนครหลวง
ชื่อเดิมของปราสาทแห่งนี้ปรากฏอยู่ในจารึกว่า “ราชัยศรี”
ส่วนชื่อปราสาทในปัจจุบันเรียกว่า “นาคพัน” นั้นได้มาจากรูปนาคสลักจากศิลา 2 ตนพันกันล้อมรอบฐานล่างสุดของปราสาท

คำว่า “ราชัยศรี” ศ.ฌอง
บวซเซอลิเย่ร์ ตีความว่าหมายถึง เครื่องเสริมพระราชอิสสริยยศ
ตั้งอยู่ทางทิศมงคล คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง
แผนผังของปราสาทนาคพันแสดงให้เห็นถึงรูปสัญลักษณ์ของสระอโนดาต
หรือสระพนงต์ปตา หมายถึง สระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งภูเขาหิมาลัย
สระน้ำนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา,
แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำพรหมบุตร
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ศาสนาว่าเป็นสระน้ำที่บริสุทธิ์เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง
4 สายที่ไหลมาหล่อเลี้ยงมนุษย์โลก
น้ำในสระอโนดาตจะไม่เหือดแห้งตราบใดที่ยังไม่ถึงวาระสุดท้ายแห่งกัลป์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ทรงโปรดให้สร้างรูปสัญลักษณ์แห่งสระอโนดาตขึ้นในราชอาณาจักรของพระองค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้แก่ชาวเขมรว่า
ราชอาณาจักรของพระองค์จะมีอายุยืนยาวนานเท่านานชั่วกัลป์

สัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยแผนผังของศาสนสถานที่ประกอบด้วยสระน้ำ
5 สระ โดยมีสระรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 70 x 70 เมตรอยู่ตรงกลาง
รอบสระกรุด้วยศิลาเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ
และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเชื่อมต่อสระใหญ่ที่ด้านข้างตรงทิศทั้งสี่ที่ขอบสระใหญ่ตรงกลางทั้งสี่ทิศที่เชื่อมต่อด้านข้างนั้น
มีซุ้มขนาดเล็กภายในซุ้มมีท่อน้ำและที่ปากท่อทำเป็นรูปต่างๆ กัน คือ
ด้านทิศเหนือเป็นรูปเศียรช้าง (ธาตุน้ำ), ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปหน้าคน
(ธาตุดิน) ถ้าเป็นคติพราหมณ์ ทำเป็นรูปโค, ด้านทิศใต้เป็นรูปสิงห์
(ธาตุไฟ) และด้านทิศตะวันตกเป็นรูปม้า (ธาตุลม)
เชื่อกันว่าภายในซุ้มนี้ใช้สำหรับการอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์
เพราะมีแท่นหินที่แกะสลักลงไปเป็นรูปรอยเท้ารองรับอยู่ที่พื้น
และที่หน้าบันของซุ้มเล็กๆ
เหล่านี้มีภาพสลักเล่าเรื่องในพระพุทธศาสนาตอนต่างๆ

กลางสระเป็นที่ตั้งของปราสาทขนาดเล็กหนึ่งหลัง
สร้างด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 14 เมตร
ฐานกลมนี้สร้างลดหลั่นเป็นขั้นบันได ส่วนล่างสุดมีรูปนาคศิลาพันรอบฐาน 2
ตัว
ถัดจากฐานกลมขึ้นไปเป็นฐานรูปดอกบัวขนาดใหญ่รองรับตัวปราสาทที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท
มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก
อีกสามด้านก่อเป็นผนังทึบสลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดับอยู่
ที่หน้าบันแต่ละด้านสลักภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติทั้งหมด
ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปตอนพระพุทธเจ้าตัดเกศ
ทิศเหนือเป็นเรื่องเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ทิศตะวันตกเป็นเรื่องของพระป่าเลไลยก์ และ ทิศใต้เป็นเรื่องมารวิชัย

ภายในสระใหญ่นี้
ยังมีประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทิศทั้งสี่อีกด้วย
ร่องรอยหลักฐานที่เหลือนั้นทำให้ทราบว่าด้านทิศเหนือเป็นรูปศิวลึงค์
ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปม้า และด้านทิศตะวันตกเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
ส่วนทิศใต้นี้ไม่ทราบว่าเป็นรูปอะไรแน่
ในปัจจุบันประติมากรรมรูปม้าได้รับการบูรณะจนสมบูรณ์ และตั้งอยู่ในสระ
เป็นรูปม้ามีผู้คนเกาะห้อยอยู่ด้านข้างม้าตนนี้เป็นม้าวิเศษที่ชื่อว่า
“ม้าอัศวพาหุ หรือม้าวลาหก (พลาหะ)”
ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำแลงลงมาเพื่อช่วยเหลือชาวเรือแตกที่ไปอาศัยอยู่เกาะที่เป็นที่อยู่ของนางยักษี
แต่ก่อนที่จะถูกยักษ์จับกิน
ชาวเรือพากันสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา
พระองค์ก็เสด็จลงมาช่วยเหลือในร่างของม้าพาชาวเรือแตกรอดมาได้

ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ได้กล่าวว่า
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ประดิษฐานเทวรูป 14 รูป และศิวลึงค์อีก 1,000
องค์ ถึงแม้ว่าจะไม่พบหลักฐานดังกล่าวเหลืออยู่ในสมัยหลัง
แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของปราสาทนาคพันและสระน้ำนี้
ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประทับของเหล่าเทพเทวดาทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 เป็นอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์มั่นคงไม่มีใครมาทำลายได้ ปัจจุบัน
ปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธชัยนาคมุนี
เป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่นำมาประดิษฐานภายหลัง ส่วนองค์เดิม
บวซเซอลิเย่สันนิษฐานว่า
ถูกกองทัพสยามทำลายหรือยึดไปครั้งยกทัพตีนครธมในปีพ.ศ.1974

ข้อสังเกต
พระเจ้าชัยวรมันที่
7 เป็นผู้ที่สนใจการสาธารณสุขอย่างจริงจัง
อย่างที่ทรงสร้างอโรคยาศาลาไว้มากมายตามเส้นทางต่างๆ
การสร้างอ่างน้ำพิเศษนี้ขึ้นอยู่ท่ามกลางสระน้ำบาราย “ชยตฎากะ”
โดยทำเป็นเขื่อนกั้นรอบอ่างน้ำนาคพัน
มีการวางแผนในการกักเก็บน้ำที่สะอาดและให้มีใช้ได้ตลอดปี
โดยการทำอ่างน้ำล้นรอบอ่างใหญ่สี่ด้านเพื่อให้สงวนน้ำที่สะอาดเป็นส่วนกลาง
ช่วงน้ำหลาก
ช่วงหน้าฝนน้ำจากอ่างใหญ่จะมีการระบายน้ำออกไปยังอ่างย่อยสี่อ่าง
และน้ำจากสระบารายก็ไม่ระบายเข้ามาถึงอ่างด้านในซึ่งมีเขื่อนดินกั้นขวาง
ช่วงหน้าแล้งก็จะทดน้ำเข้ามากักเก็บในอ่างน้ำด้านในเพื่อให้มีน้ำสะอาดใช้
ขณะที่น้ำในสระบารายชยตฎากะก็จะแห้งไปตามฤดูกาล
การมีน้ำสะอาดใช้ก็จะช่วยให้ผู้คนที่เจ็บป่วยหายไข้ได้ดีกว่าใช้น้ำที่ไม่สะอาด
พอผ่านหน้าโรงพยาบาล (มนเฑียรแพทย์) ชัยวรมันที่ 7
เห็นสัญลักษณ์คือรูปพระเศียรขนาดใหญ่ของท่าน ก็คิดสมญาท่านว่า
บิดาแห่งการสาธารณสุขผู้ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา


Powered by ScribeFire.

ปราสาทพระขรรค์

ปราสาทพระขรรค์
(ศิลปะแบบบายน พ.ศ.1724-1780)


พระเจ้าชัยวรมันที่
7 โปรดให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1734
ในบริเวณที่พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพวกจามเมื่อคราวที่ทำสงครามกู้อิสรภาพ
สร้างถวายพระบิดาของพระองค์ คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2
ภายใต้รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้มีพระนามว่า “ศรีชัยวรเมศวร”
ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
(พระโลเกศวรเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
แต่ได้ทรงปฏิเสธที่จะเข้าสู่ปรินิพพาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยสัตว์ทั้งหลาย
ไม่เฉพาะแต่ความเป็นอยู่เท่านั้น แต่จากภัยพิบัติต่างๆ ด้วย
พระองค์มีพระนาม โลเกศวร ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งโลก หรือ อวโลกิเตศวร
คือ ผู้ที่มองลงมาจากเบื้องบนด้วยความเมตตากรุณา)

แผนผังของปราสาทพระขรรค์มีลักษณะคล้ายเมืองพระนครหลวง
แต่มีขนาดเล็กกว่า และสร้างขึ้นก่อนพระนครหลวง
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเดิมนั้นเมืองที่ปราสาทพระขรรค์นั้นอาจจะเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ในช่วงระยะเวลาที่พระนครหลวงยังสร้างไม่เสร็จ
ที่นี่พบจารึกซึ่งทำให้เรารู้ถึงเรื่องราวต่างๆ
ในสมัยของพระเจ้าชัยวมันที่ 7 มากมาย เช่น มีการสร้างประติมากรรมขึ้นถึง
515 องค์, มีการสร้างสถานพยาบาลหรืออโรคยศาลาขึ้น (ทั้งหมด 102 แห่ง)
เพื่อเป็นที่บำบัดทุกข์ให้แก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร
ถวายแด่พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่มวลมนุษย์ ทรงบาตร
หม้อน้ำมนต์ หรือผลสมอในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์,
มีการสร้างบ้านมีไฟหรือที่พักคนเดินทางขึ้น (ทั้งหมด 121 แห่ง)
ตามเส้นทางต่างๆ ในราชอาณาจักร
และทราบถึงเรื่องราวของปราสาทพระขรรค์ในอดีตด้วย คือ
เมืองที่ปราสาทพระขรรค์นั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า ชัยศรี (แปลว่า
โชคลาภแห่งชัยชนะ) ชื่อพระขรรค์เป็นชื่อที่เรียกกันในปัจจุบัน (คำว่า
พระขรรค์ หมายถึง พระแสงดาบอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีนามเต็มว่า
พระแสงขรรค์ชัยศรี
ชาวเขมรนับถือว่าเป็นพระแสงดาบอันศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเขมร)
นอกจากนี้
ยังกล่าวว่ามีเมืองชัยศรีเป็นที่อยู่ของผู้คนที่เป็นผู้รับใช้ประจำศาสนสถานและนักบวชถึง
97,840 คน
และมีนักฟ้อนรำสำหรับพิธีทางศาสนาและงานฉลองประจำปีที่มีขึ้นที่ปราสาทพระขรรค์นี้ถึง
1,000 คน

ขอบเขตชั้นนอกสุดเป็นคูน้ำกว้าง 40 เมตร
ล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาด 700 x 800 เมตร
คูน้ำแต่ละด้านจะมีทางเดินข้ามคูน้ำไปสู่ประตูทางเข้าของกำแพงชั้นนอกสุดที่ก่อด้วยศิลาแลง
สองข้างทางเดินข้ามคูน้ำประดับด้วยภาพสลักขนาดใหญ่เป็นรูปเหล่าอสูรและเทวดากำลังยุดนาค
เช่นเดียวกับที่พบที่เมืองพระนครหลวงราชธานี
ทางเดินข้ามคูน้ำทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้น
เชื่อมต่อมาจากทางเดินเข้าทางด้านนอกสุดที่มีเสานางเรียงประดับอยู่สองข้างทางด้วย


มีประตูทางเข้าขนาดใหญ่ 3 ประตูที่ก่อเป็นซุ้มยอดปราสาท
ภายในเขตกำแพงชั้นนอกสุดนี้กว้างใหญ่มาก
และมีทางเดินนำไปสู่กลุ่มศาสนสถานที่ตั้งรวมกลุ่มอยู่ในบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมที่มีความกว้างยาวเพียง
220 x170 เมตรที่ตั้งอยู่ตรงกลางค่อนไปทางทิศตะวันออก
บริเวณรอบนอกนี้คงจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมากที่มีกล่าวไว้ในจารึกนั่นเอง

ที่น่าสนใจที่สุด
ได้แก่ อาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ก่อด้วยศิลาทราย
ชั้นล่างสุดไม่มีผนังมีแต่เพียงแนวสันหินที่ก่อเป็นเสากลมขนาดใหญ่มาก
รองรับอาคารชั้นบนที่มีผนังเจาะเป็นช่องหน้าต่างขนาดใหญ่
ส่วนหลังคาก่อเป็นรูปวงโค้งแต่พังทลายไปหมดแล้ว ที่น่าแปลกใจก็คืออาคาร 2
ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้นไปสู่ชั้นบน


ภายในระเบียงคตชั้นในสุด
ยังมีปราสาทขนาดเล็กและอาคารชั้นรองอีกเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปราสาทเล็กๆ ราว 23 หลังหรือมากกว่านั้น
ซึ่งคงจะสร้างเพิ่มเติมขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่บรรดาพระราชวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแแล้ว
ศาสตราจารย์เซเดส์เรียกกลุ่มปราสาทเล็กๆ นี้ว่า สุสานแห่งครอบครัว

ภาพสลักที่ปราสาทพระขรรค์
แสดงเป็นภาพเล่าเรื่องทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู และที่งดงามมากได้แก่
ภาพสลักรูปนางอัปสรกำลังฟ้อนรำบนทับหลัง
และนางอัปสรยืนอยู่ภายในซุ้มประดับอยู่ตามผนังของประตูทางเข้าของปราสาทและระเบียงคต
รวมทั้งภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ และภาพตรีมูรติ

ยังพบภาพสลักรูปผู้หญิง
2 ภาพที่สลักอยู่ภายในซอกหลืบ เชื่อว่าเป็นภาพของพระนางชัยราชเทวี
และพระนางอินทรเทวี ซึ่งทั้งสองเป็นพี่น้องกัน
และเป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ในปราสาทประธาน
มีเจดีย์เล็กๆ อยู่องค์หนึ่ง
บางคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
บางคนเชื่อว่าบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 พระราชบิดา
บางคนเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยหลังเมื่ออยุธยาได้แผ่อิทธิพลไปถึง

นอกจากนี้
ที่ปราสาทพระขรรค์นี้ได้มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงมาก
คือ รูปเคารพนางปรัชญาปารมิตา และรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กร
ปัจจุบันนี้ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อาคารผังสี่เหลี่ยมที่มีสองชั้นและมีเสากลมขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักของชั้นบนนี้
ซึ่งไม่ได้สร้างบันไดถาวรขึ้นสู่ชั้นบน
คงใช้บันไดไม้พาดที่เคลื่อนย้ายได้มีลักษณะคล้ายๆกับอาคารเก็บสมุดหนังสือในสถาปัตยกรรมแบบกรีกโรมัน
อาคารรูปแบบนี้ไม่พบในที่อื่นใดของเมืองพระนครหรือในเมืองนครธม
น่าจะมาจากการสร้างเลียนแบบจากผังอาคารของกรีกโรมันที่นำเข้ามาโดยพวกพ่อค้า


Powered by ScribeFire.

ปราสาทปักษีจำกรง

ปราสาทปักษีจำกรง
(รูปแบบสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในแบบศิลปะเกาะแกร์ พ.ศ.1464-1490)
พระเจ้าหรรษะวรมันที่
1 (พ.ศ.1450-1465) โปรดให้สร้างขึ้นในราวปีพ.ศ.1465 ในยุคศิลปะแบบเกาะแกร์
เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาและมารดา
ประกอบด้วยปราสาทอิฐหลังเดียวอยู่บนฐานศิลาแลง 3 ชั้น
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทับหลังแกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
เทพผู้รักษาทิศตะวันออก จารึกภาษาสันสกฤตบนกรอบประตูทั้งสองด้านกล่าวว่า
พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1
โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาและพระราชมารดา
โดยโปรดให้ประดิษฐานรูปเคารพพระศิวะและพระอุมาไว้
ต่อมาพระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ.1487-1511) มาซ่อมแซมในราว พ.ศ.1490
ด้วยการประดับปูนปั้นสีขาว

ชื่อปราสาทปักษีจำกรงเป็นชื่อเรียกตามนิยายพื้นบ้าน
เพราะไม่พบจารึกบอกชื่อของปราสาท ซึ่งชื่อมักจะมาจากภาษาสันสกฤต
เพราะว่าสร้างในศาสนาฮินดู หรือไม่ก็ศาสนาพุทธลัทธิมหายาน
เมื่อไม่พบจารึกก็ไม่สามารถทราบชื่อเดิมของปราสาทได้
นิยายโบราณที่เล่าสืบต่อกันมานั้นมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งมีข้าศึกยกทัพมาประชิดเมืองพระนคร
กษัตริย์ก็หลบหนีข้าศึกมาหลบซ่อนอยู่ข้างนอก ข้าศึกเกือบจะจับตัวได้แล้ว
แต่มีนกใหญ่ตัวหนึ่งบินมากางปีกคุ้มกันกษัตริย์ให้หนีจากข้าศึกได้
และรวบรวมไพร่พลขึ้นมาต่อสู้ข้าศึกจนชนะและกลับมาครองราชย์อีกครั้ง
จึงสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นกตัวนี้ และให้ชื่อว่า
ปราสาทปักษีจำกรง
คำว่า “กรง” ที่มีความหมายว่าเมืองใหญ่
ที่ตรงกับคำไทยว่า “กรุง” กับกลายเป็นที่อยู่ของนกในความเข้าใจของคนไทย
ก็น่าจะมาจากนิทานนกอยู่กรงหรือปักษีจำกรงของกัมพูชา

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คิดว่าปราสาทแห่งนี้คงเป็นต้นเค้าของการเอาศพใส่โกศของไทย จริงๆ
แล้วธรรมเนียมการใส่ศพในโกศของเราเป็นธรรมเนียมของพราหมณ์
ไม่เกี่ยวกับพุทธเลย
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้คนที่ตายแล้วไปอยู่รวมกับพระอิศวร
จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป คำเดิมของคำว่า “โกศ” แปลว่า
“ที่ครอบศิวลึงค์” และศิวลึงค์ก็คือพระอิศวรนั่นเอง

ตรงผนังด้านในของกรอบประตูปราสาทปักษีจำกรงนี้
มีจารึกอักษรเขมรที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับบรรพบุรุษ บรรพสตรีของชาวเขมร
โดยกล่าวถึงชื่อศรีกัมพุชและเมรา
ซึ่งเป็นบุรุษและสตรีคู่แรกของดินแดนแห่งนี้ (เหมือนๆกับ อดัมส์กับอีฟ
นั่นแล) ที่มาของชื่อแผ่นดินนี้ คือกัมพูชา ที่แปลว่าผู้สืบทอดมาจากกัมพุช
และคำว่าเขมร ที่หมายถึงเหล่าคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งกัมพุช
ที่มีต้นคำจากเมรา นี่คือจารึกเมื่อประมาณเกือบ 1 พันปีมาแล้ว

Powered by ScribeFire.