Monday, February 4, 2008

ปราสาทนาคพัน

ปราสาทนาคพัน (ศิลปะแบบบายน พ.ศ.1724-1780)

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นกลางบาราย “ชัยตฏากะ” แต่ในปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเมืองพระนครหลวง
ชื่อเดิมของปราสาทแห่งนี้ปรากฏอยู่ในจารึกว่า “ราชัยศรี”
ส่วนชื่อปราสาทในปัจจุบันเรียกว่า “นาคพัน” นั้นได้มาจากรูปนาคสลักจากศิลา 2 ตนพันกันล้อมรอบฐานล่างสุดของปราสาท

คำว่า “ราชัยศรี” ศ.ฌอง
บวซเซอลิเย่ร์ ตีความว่าหมายถึง เครื่องเสริมพระราชอิสสริยยศ
ตั้งอยู่ทางทิศมงคล คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง
แผนผังของปราสาทนาคพันแสดงให้เห็นถึงรูปสัญลักษณ์ของสระอโนดาต
หรือสระพนงต์ปตา หมายถึง สระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งภูเขาหิมาลัย
สระน้ำนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา,
แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำพรหมบุตร
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ศาสนาว่าเป็นสระน้ำที่บริสุทธิ์เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง
4 สายที่ไหลมาหล่อเลี้ยงมนุษย์โลก
น้ำในสระอโนดาตจะไม่เหือดแห้งตราบใดที่ยังไม่ถึงวาระสุดท้ายแห่งกัลป์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ทรงโปรดให้สร้างรูปสัญลักษณ์แห่งสระอโนดาตขึ้นในราชอาณาจักรของพระองค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้แก่ชาวเขมรว่า
ราชอาณาจักรของพระองค์จะมีอายุยืนยาวนานเท่านานชั่วกัลป์

สัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยแผนผังของศาสนสถานที่ประกอบด้วยสระน้ำ
5 สระ โดยมีสระรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 70 x 70 เมตรอยู่ตรงกลาง
รอบสระกรุด้วยศิลาเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ
และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเชื่อมต่อสระใหญ่ที่ด้านข้างตรงทิศทั้งสี่ที่ขอบสระใหญ่ตรงกลางทั้งสี่ทิศที่เชื่อมต่อด้านข้างนั้น
มีซุ้มขนาดเล็กภายในซุ้มมีท่อน้ำและที่ปากท่อทำเป็นรูปต่างๆ กัน คือ
ด้านทิศเหนือเป็นรูปเศียรช้าง (ธาตุน้ำ), ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปหน้าคน
(ธาตุดิน) ถ้าเป็นคติพราหมณ์ ทำเป็นรูปโค, ด้านทิศใต้เป็นรูปสิงห์
(ธาตุไฟ) และด้านทิศตะวันตกเป็นรูปม้า (ธาตุลม)
เชื่อกันว่าภายในซุ้มนี้ใช้สำหรับการอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์
เพราะมีแท่นหินที่แกะสลักลงไปเป็นรูปรอยเท้ารองรับอยู่ที่พื้น
และที่หน้าบันของซุ้มเล็กๆ
เหล่านี้มีภาพสลักเล่าเรื่องในพระพุทธศาสนาตอนต่างๆ

กลางสระเป็นที่ตั้งของปราสาทขนาดเล็กหนึ่งหลัง
สร้างด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 14 เมตร
ฐานกลมนี้สร้างลดหลั่นเป็นขั้นบันได ส่วนล่างสุดมีรูปนาคศิลาพันรอบฐาน 2
ตัว
ถัดจากฐานกลมขึ้นไปเป็นฐานรูปดอกบัวขนาดใหญ่รองรับตัวปราสาทที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท
มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก
อีกสามด้านก่อเป็นผนังทึบสลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดับอยู่
ที่หน้าบันแต่ละด้านสลักภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติทั้งหมด
ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปตอนพระพุทธเจ้าตัดเกศ
ทิศเหนือเป็นเรื่องเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ทิศตะวันตกเป็นเรื่องของพระป่าเลไลยก์ และ ทิศใต้เป็นเรื่องมารวิชัย

ภายในสระใหญ่นี้
ยังมีประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทิศทั้งสี่อีกด้วย
ร่องรอยหลักฐานที่เหลือนั้นทำให้ทราบว่าด้านทิศเหนือเป็นรูปศิวลึงค์
ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปม้า และด้านทิศตะวันตกเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
ส่วนทิศใต้นี้ไม่ทราบว่าเป็นรูปอะไรแน่
ในปัจจุบันประติมากรรมรูปม้าได้รับการบูรณะจนสมบูรณ์ และตั้งอยู่ในสระ
เป็นรูปม้ามีผู้คนเกาะห้อยอยู่ด้านข้างม้าตนนี้เป็นม้าวิเศษที่ชื่อว่า
“ม้าอัศวพาหุ หรือม้าวลาหก (พลาหะ)”
ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำแลงลงมาเพื่อช่วยเหลือชาวเรือแตกที่ไปอาศัยอยู่เกาะที่เป็นที่อยู่ของนางยักษี
แต่ก่อนที่จะถูกยักษ์จับกิน
ชาวเรือพากันสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา
พระองค์ก็เสด็จลงมาช่วยเหลือในร่างของม้าพาชาวเรือแตกรอดมาได้

ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ได้กล่าวว่า
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ประดิษฐานเทวรูป 14 รูป และศิวลึงค์อีก 1,000
องค์ ถึงแม้ว่าจะไม่พบหลักฐานดังกล่าวเหลืออยู่ในสมัยหลัง
แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของปราสาทนาคพันและสระน้ำนี้
ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประทับของเหล่าเทพเทวดาทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 เป็นอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์มั่นคงไม่มีใครมาทำลายได้ ปัจจุบัน
ปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธชัยนาคมุนี
เป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่นำมาประดิษฐานภายหลัง ส่วนองค์เดิม
บวซเซอลิเย่สันนิษฐานว่า
ถูกกองทัพสยามทำลายหรือยึดไปครั้งยกทัพตีนครธมในปีพ.ศ.1974

ข้อสังเกต
พระเจ้าชัยวรมันที่
7 เป็นผู้ที่สนใจการสาธารณสุขอย่างจริงจัง
อย่างที่ทรงสร้างอโรคยาศาลาไว้มากมายตามเส้นทางต่างๆ
การสร้างอ่างน้ำพิเศษนี้ขึ้นอยู่ท่ามกลางสระน้ำบาราย “ชยตฎากะ”
โดยทำเป็นเขื่อนกั้นรอบอ่างน้ำนาคพัน
มีการวางแผนในการกักเก็บน้ำที่สะอาดและให้มีใช้ได้ตลอดปี
โดยการทำอ่างน้ำล้นรอบอ่างใหญ่สี่ด้านเพื่อให้สงวนน้ำที่สะอาดเป็นส่วนกลาง
ช่วงน้ำหลาก
ช่วงหน้าฝนน้ำจากอ่างใหญ่จะมีการระบายน้ำออกไปยังอ่างย่อยสี่อ่าง
และน้ำจากสระบารายก็ไม่ระบายเข้ามาถึงอ่างด้านในซึ่งมีเขื่อนดินกั้นขวาง
ช่วงหน้าแล้งก็จะทดน้ำเข้ามากักเก็บในอ่างน้ำด้านในเพื่อให้มีน้ำสะอาดใช้
ขณะที่น้ำในสระบารายชยตฎากะก็จะแห้งไปตามฤดูกาล
การมีน้ำสะอาดใช้ก็จะช่วยให้ผู้คนที่เจ็บป่วยหายไข้ได้ดีกว่าใช้น้ำที่ไม่สะอาด
พอผ่านหน้าโรงพยาบาล (มนเฑียรแพทย์) ชัยวรมันที่ 7
เห็นสัญลักษณ์คือรูปพระเศียรขนาดใหญ่ของท่าน ก็คิดสมญาท่านว่า
บิดาแห่งการสาธารณสุขผู้ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา


Powered by ScribeFire.

No comments: