Saturday, January 26, 2008

บก.สส.หวั่น’เขมร’ดันขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

กระทบไทยเสียดินแดน
พล.ท.พิชษณุ ปุจฉาการ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงผลการประชุมสภากลาโหม ว่า กองบัญชาการทหารสูงสุด สรุปผลการประชุมเรื่องการบูรณาการเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระ วิหารเป็นมรดกโลกให้ที่ประชุมรับทราบว่า ท่าทีของประเทศกัมพูชายังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ให้ได้ โดยพยายามเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ร่วมให้ความเห็นชอบ และมีการสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ฝ่ายกัมพูชา นอกจากนี้ ยังแสดงท่าทีข่มขู่ฝ่ายไทยว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งขั้นรุนแรงได้ หากไทยพยายามขัดขวางเรื่องนี้

พล.ท.พิชษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะหากการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกกระทำสำเร็จ จะทำให้ดินแดนปราสาทพระวิหารได้รับการยอมรับว่าเป็นของกัมพูชาโดยปริยาย อาจส่งผลให้ไทยต้องเสียดินแดนดังกล่าว รวมทั้งผลประโยชน์ที่พึงได้ หากไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาปราสาทพระวิหาร ขณะเดียวกัน หากการขึ้นทะเบียนไม่สำเร็จก็อาจกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยกับกัมพูชาได้

‘ประเทศไทยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น จำเป็นต้องกำหนดท่าที ดังนี้ 1.ให้มีการประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยอาศัยช่องทางการทูตและองค์กรระหว่างประเทศ และต้องประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศเข้าใจถึงความพยายามร่วมมือของไทยต่อกรณี ดังกล่าว 2.ประณามการกระทำของกัมพูชาที่เห็นประโยชน์ส่วนตนในการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยลำพัง รวมทั้งกัมพูชาพยายามสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จและชักชวน ประเทศต่างๆ ให้เห็นชอบและช่วยเหลือตน’ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว

พล.ท.พิชษณุ กล่าวอีกว่า และ 3.รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับความเร่งด่วนเป็นวาระระดับชาติ โดยให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมมือผนึกกำลัง เพื่อดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และติดตามสถานการณ์เตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ทราบว่ารัฐบาลใหม่จะแต่งตั้งให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะให้ พล.อ.ชวลิต เข้ามาดูแลและติดตามเรื่องนี้ เพราะท่านเป็นคนที่มีประสบการณ์และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกัมพูชา จึงน่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดี

เมื่อถามว่า หลักฐานที่กัมพูชาพยายามสร้างให้เป็นเท็จคืออะไร พล.ท.พิชษณุ กล่าวว่า เป็นการสร้างหลักฐานเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน นอกจากนี้ หากไทยไม่ยอมเขาจะสร้างท่าทีไม่พอใจตามแนวชายแดน ซึ่งอาจจะกระทบกับประชาชนตามแนวชายแดน ทั้งนี้ กองทัพได้เน้นย้ำกองกำลังที่อยู่ตามแนวชายแดนเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นว่ารัฐบาลใหม่ต้องผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระ ของชาติโดยเร่งด่วน
ข่าวจาก Matichon-On Line :: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=17846&catid=6

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

ที่ตั้ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รวมระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ ๓๒๐กิโลเมตร เมืองพิมายโบราณ ตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ และมีสาขาของแม่น้ำมูลไหลผ่านรอบเมือง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมืองพิมายซึ่งรวมทั้งพื้นที่ของ อุทยานประวัติศาสตร์พิมายไว้ด้วย

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองพิมายได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุระหว่าง ๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว รวมไปถึงหลักฐานของอิทธิพลวัฒนธรรมของทวารวดี ที่คงเคยมีโบราณสถานอยู่ภายในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาได้มีการรื้อทำลาย และสร้างศาสนสถานตามคติความเชื่อของตนเองขึ้นมาแทน เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะเขมร คือมีกำแพงเมืองและคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน จากจารึกที่พบอยู่บนซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย ได้กล่าวถึงศักราช พ.ศ. ๑,๖๕๑ - ๑,๖๕๕ กล่าวถึงพระนามพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ และจากหลักฐานทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่ปราสาทหินพิมายจะอยู่ระหว่างปลายศิลปเขมรแบบบาปวน และตอนต้นของแบบนครวัด คือราวตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สืบมาจนถึงสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๖๒) ได้ทรงโปรดให้สร้างพระรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้ในปรางค์พรหมทัต ภายในบริเวณปราสาทหินพิมาย เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗ และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายก็คงยังอยู่แต่ลดบทบาทลง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

เมืองพิมายกลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงรวบรวมผู้คนมาตั้งตัวเป็นใหญ่เรียกว่า ก็กเจ้าพิมาย ขึ้นที่เมืองพิมาย แต่ในที่สุดก็ถูก พระเจ้าตากสินมหาราช ปราบปรามจนราบคาบ ใน พ.ศ.๒๓๑๑

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงปรากฏตำแหน่งหลวงปลัดพิมายอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๓๖๙ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง พ.ศ. ๒๓๖๙ เมืองนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์ได้รวมกันเป็น มณฑลนครราชสีมา เมืองพิมายจึงมีฐานเป็นอำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดนครราชสีมาจนถึงปัจจุบันนี้

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ และ พ.ศ.๒๕๑๙ - ๒๕๓๒ กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และทำการบูรณะปรับปรุงจนแล้วเสร็จ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมจนถึงปัจจุบัน

ต้องรีบๆ ไปชม..ก่อนเขมรจะปิดนครวัด!?

ทางการกัมพูชากำลังเตรียมแผนการที่จะปิดกั้นมิให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในเขตปราสาทนครวัด หลังจากมีสภาพเสื่อมโทรมลงทุกวันๆ จากน้ำหนักตัวของนักท่องเที่ยวปีละนับล้านๆ คนจากทั่วโลก

หมายความว่า นักท่องเที่ยวรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสเข้าไปชมถึงชั้นในองค์ปราสาท และทำได้แค่ชมความยิ่งใหญ่อลังการจากภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปชมระเบียงคด และภาพสลักงดงามความยาวรวมกันกว่า 600 เมตรได้

ทางการกัมพูชาได้ห้ามนักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปยังชั้นบนขององค์ปราสาทมาระยะหนึ่งแล้ว ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้มีมาตรการเข้มงวดมากกว่านี้ เพื่ออนุรักษ์องค์ปราสาทที่มีอายุ 1,000 ปี รวมทั้งป้องกันศิลปะล้ำค่าต่างๆ จากการถูกทำลาย หรือได้รับความเสียหาย

รูปสลักนางอัปสร (Apsara) บนผนังนครวัดหลายรูปได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกัดกร่อนของความเค็มจากมือของนักท่องเที่ยว ที่ลูบคลำติดต่อกันมาเป็นเวลา 20 ปี นับตั้งแต่กัมพูชาเปิดปราสาทนครวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หลังสงครามกลางเมืองสงบลง

นายทองคูน (Thong Khon) รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในเร็วๆ นี้กำลังจะมีการออกมาตรการเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับการเที่ยวชมปราสาทนครวัด

ตามรายงานของสื่อในกัมพูชา มาตรการในชั้นแรกอาจจะยังไม่ถึงกับปิดตาย ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปในชั้นใน แต่อาจจะเปิดให้เข้าชมได้เป็นบางเวลา และใช้เวลาในการเที่ยวชมสั้นลง มิให้เดินเที่ยวได้อย่างเสรีอย่างเช่นในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ทางการอาจจะจัดเก็บค่าเข้าชมปราสาทในราคาแพงอีกด้วย
อ่านต่อ จากผู้จัดการออนไลน์ 6 มกราคม 2551 14:39 น.

เขมรเลิกพึ่งไทย จีนช่วยตัดถนนไปพระวิหาร

ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ 21 มกราคม 2551 23:56 น.
บริษัทก่อสร้างจากจีนแห่งหนึ่งกำลังจะเริ่มสร้างถนนความยาว 32 กม. เพื่อตัดตรงไปยังจุดที่ตั้งของปราสาทพระวิหารที่อยู่ติดชายแดนไทย หลังจากมีปัญหาเกี่ยวกับการขึ้นลงมาตลอด เนื่องจากทางขึ้นอยู่ในดินแดนของไทย

การตัดถนนสายนี้เป็นความพยายามที่จะลดการพึ่งพาไทยในการขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทที่มีความเก่าแก่ 1,000 ปี ตามที่นายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุนเซนประกาศเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว และยังมีขึ้นในขณะที่กัมพูชากำลังพยายามจดทะเบียนปราสาทพระวิวหารแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกโลก

ตามรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาล ผู้บริหารบริษัทเซี่ยงไฮ้กรู๊ปจากจีนได้เซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้างในวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมากับนายสุ่นจันทูล (Sun Camtho) รัฐมนตรีกระทรวงการโยธาการและก่อสร้าง โดยมีนายเกียชน รมว.การคลังเป็นสักขีพยาน
จากทางหลวงเลข 62 ช่วงจาก อ.ตะแบงมีชัย (Tbeng Meanchey) เมืองเอกของ จ.พระวิหาร (Preah Vihear) ตรงไปยังเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารมีความยาวตลอดสาย 116.31 กม. แต่เซี่ยงไฮ้กรู๊ปจะสร้างระยะทาง 32 กม.ที่เหลืออยู่เท่านั้น เอเคพีกล่าว

การก่อสร้างถนนช่วงดังกล่าวใช้เงินกู้จากรัฐบาลจีนรวม 57.5 ล้านดอลลาร์ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 45 เดือน สำนักข่าวทางการกล่าว
ตามรายงานของสื่อกัมพูชาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการเพื่อจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร กับองค์การการศึกษาสังคมวิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ การประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้กำลังจะมีขึ้นในแคนาดาอีกไม่นานข้างหน้า

การประชุมเรื่องนี้ในเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ได้แจ้งให้ทางการกัมพูชาจัดเตรียมเอกสารให้พร้อม รวมทั้งจัดทำแผนบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกพระวิหารโดยละเอียดด้วยและนำกลับไปพิจารณาอีกครั้งในปีนี้

รัฐบาลไทยมีความเห็นแตกต่างไปจากรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องนี้ และได้พยายามเจรจาขอให้รวมเอาอาณาบริเวณปราสาท พระวิหาร ที่อยู่ในดินแดนไทยเข้ารวมเป็นแหล่งมรดกโลกด้วย นอกจากนั้นสองฝ่ายยังอยู่ระหว่างเจรจาเส้นแบ่งเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจนในเขตใกล้กับปราสาทพระวิหาร

ปีที่แล้วสื่อในกัมพูชาได้รายงานในหลายโอกาสเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทเนื่องจากทางการไทยปิดประตูทางขึ้นอยู่บ่อยๆ

ตามรายงานของ “เกาะสันติภาพ” (Koh Santepheap) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาเขมร เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ผู้นำกัมพูชาได้สั่งตัดถนน 2 สาย จาก จ.กัมปงธม (Kampong Thom) และ จาก จ.พระวิหารไปยังปราสาทพระวิหาร เพื่อหาทางขึ้นไปยังปราสาททางฝั่งกัมพูชา

อย่างไรก็ตามปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนยอดเขาและด้านที่เป็นดินแดนกัมพูชาเป็นหน้าผาลาดชันระยะทางกว่า 500 เมตร ยังไม่มี คำอธิบายว่าเมื่อตัดถนนไปถึงที่นั่นแล้ว จะมีวิธีขึ้นไปเที่ยวชมปราสาทได้อย่างไร

“ในปัจจุบันท้องถิ่นดังกล่าวเต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากฝ่ายไทยได้สั่งปิดด่านชายแดนตามอำเภอใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งนี้เนื่องจากอาหารรวม ทั้งน้ำดื่มจะต้องซื้อจากไทย”

สมเด็จฯ ฮุนเซนได้ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดหนึ่งกรณีที่ไทยปิดด่านชายแดนพระวิหาร บ่อยๆ โดยได้เตือนว่า ถ้าหากมีการปิดด่านพรมแดนที่นั่นครั้งต่อไป ก็จะเป็นการปิดครั้งสุดท้าย จะไม่มีการเปิดใช้ด่านที่นั่นอีก เกาะสันติภาพกล่าว.

คัดลอกมาจาก ผู้จัดการออนไลน์ 21 มกราคม 2551 23:56 น.
อ่านข่าวนี้ จากผู้จัดการออนไลน์