Monday, February 4, 2008

ปราสาทพระขรรค์

ปราสาทพระขรรค์
(ศิลปะแบบบายน พ.ศ.1724-1780)


พระเจ้าชัยวรมันที่
7 โปรดให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1734
ในบริเวณที่พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพวกจามเมื่อคราวที่ทำสงครามกู้อิสรภาพ
สร้างถวายพระบิดาของพระองค์ คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2
ภายใต้รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้มีพระนามว่า “ศรีชัยวรเมศวร”
ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
(พระโลเกศวรเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
แต่ได้ทรงปฏิเสธที่จะเข้าสู่ปรินิพพาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยสัตว์ทั้งหลาย
ไม่เฉพาะแต่ความเป็นอยู่เท่านั้น แต่จากภัยพิบัติต่างๆ ด้วย
พระองค์มีพระนาม โลเกศวร ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งโลก หรือ อวโลกิเตศวร
คือ ผู้ที่มองลงมาจากเบื้องบนด้วยความเมตตากรุณา)

แผนผังของปราสาทพระขรรค์มีลักษณะคล้ายเมืองพระนครหลวง
แต่มีขนาดเล็กกว่า และสร้างขึ้นก่อนพระนครหลวง
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเดิมนั้นเมืองที่ปราสาทพระขรรค์นั้นอาจจะเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ในช่วงระยะเวลาที่พระนครหลวงยังสร้างไม่เสร็จ
ที่นี่พบจารึกซึ่งทำให้เรารู้ถึงเรื่องราวต่างๆ
ในสมัยของพระเจ้าชัยวมันที่ 7 มากมาย เช่น มีการสร้างประติมากรรมขึ้นถึง
515 องค์, มีการสร้างสถานพยาบาลหรืออโรคยศาลาขึ้น (ทั้งหมด 102 แห่ง)
เพื่อเป็นที่บำบัดทุกข์ให้แก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร
ถวายแด่พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่มวลมนุษย์ ทรงบาตร
หม้อน้ำมนต์ หรือผลสมอในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์,
มีการสร้างบ้านมีไฟหรือที่พักคนเดินทางขึ้น (ทั้งหมด 121 แห่ง)
ตามเส้นทางต่างๆ ในราชอาณาจักร
และทราบถึงเรื่องราวของปราสาทพระขรรค์ในอดีตด้วย คือ
เมืองที่ปราสาทพระขรรค์นั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า ชัยศรี (แปลว่า
โชคลาภแห่งชัยชนะ) ชื่อพระขรรค์เป็นชื่อที่เรียกกันในปัจจุบัน (คำว่า
พระขรรค์ หมายถึง พระแสงดาบอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีนามเต็มว่า
พระแสงขรรค์ชัยศรี
ชาวเขมรนับถือว่าเป็นพระแสงดาบอันศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเขมร)
นอกจากนี้
ยังกล่าวว่ามีเมืองชัยศรีเป็นที่อยู่ของผู้คนที่เป็นผู้รับใช้ประจำศาสนสถานและนักบวชถึง
97,840 คน
และมีนักฟ้อนรำสำหรับพิธีทางศาสนาและงานฉลองประจำปีที่มีขึ้นที่ปราสาทพระขรรค์นี้ถึง
1,000 คน

ขอบเขตชั้นนอกสุดเป็นคูน้ำกว้าง 40 เมตร
ล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาด 700 x 800 เมตร
คูน้ำแต่ละด้านจะมีทางเดินข้ามคูน้ำไปสู่ประตูทางเข้าของกำแพงชั้นนอกสุดที่ก่อด้วยศิลาแลง
สองข้างทางเดินข้ามคูน้ำประดับด้วยภาพสลักขนาดใหญ่เป็นรูปเหล่าอสูรและเทวดากำลังยุดนาค
เช่นเดียวกับที่พบที่เมืองพระนครหลวงราชธานี
ทางเดินข้ามคูน้ำทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้น
เชื่อมต่อมาจากทางเดินเข้าทางด้านนอกสุดที่มีเสานางเรียงประดับอยู่สองข้างทางด้วย


มีประตูทางเข้าขนาดใหญ่ 3 ประตูที่ก่อเป็นซุ้มยอดปราสาท
ภายในเขตกำแพงชั้นนอกสุดนี้กว้างใหญ่มาก
และมีทางเดินนำไปสู่กลุ่มศาสนสถานที่ตั้งรวมกลุ่มอยู่ในบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมที่มีความกว้างยาวเพียง
220 x170 เมตรที่ตั้งอยู่ตรงกลางค่อนไปทางทิศตะวันออก
บริเวณรอบนอกนี้คงจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมากที่มีกล่าวไว้ในจารึกนั่นเอง

ที่น่าสนใจที่สุด
ได้แก่ อาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ก่อด้วยศิลาทราย
ชั้นล่างสุดไม่มีผนังมีแต่เพียงแนวสันหินที่ก่อเป็นเสากลมขนาดใหญ่มาก
รองรับอาคารชั้นบนที่มีผนังเจาะเป็นช่องหน้าต่างขนาดใหญ่
ส่วนหลังคาก่อเป็นรูปวงโค้งแต่พังทลายไปหมดแล้ว ที่น่าแปลกใจก็คืออาคาร 2
ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้นไปสู่ชั้นบน


ภายในระเบียงคตชั้นในสุด
ยังมีปราสาทขนาดเล็กและอาคารชั้นรองอีกเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปราสาทเล็กๆ ราว 23 หลังหรือมากกว่านั้น
ซึ่งคงจะสร้างเพิ่มเติมขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่บรรดาพระราชวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแแล้ว
ศาสตราจารย์เซเดส์เรียกกลุ่มปราสาทเล็กๆ นี้ว่า สุสานแห่งครอบครัว

ภาพสลักที่ปราสาทพระขรรค์
แสดงเป็นภาพเล่าเรื่องทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู และที่งดงามมากได้แก่
ภาพสลักรูปนางอัปสรกำลังฟ้อนรำบนทับหลัง
และนางอัปสรยืนอยู่ภายในซุ้มประดับอยู่ตามผนังของประตูทางเข้าของปราสาทและระเบียงคต
รวมทั้งภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ และภาพตรีมูรติ

ยังพบภาพสลักรูปผู้หญิง
2 ภาพที่สลักอยู่ภายในซอกหลืบ เชื่อว่าเป็นภาพของพระนางชัยราชเทวี
และพระนางอินทรเทวี ซึ่งทั้งสองเป็นพี่น้องกัน
และเป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ในปราสาทประธาน
มีเจดีย์เล็กๆ อยู่องค์หนึ่ง
บางคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
บางคนเชื่อว่าบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 พระราชบิดา
บางคนเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยหลังเมื่ออยุธยาได้แผ่อิทธิพลไปถึง

นอกจากนี้
ที่ปราสาทพระขรรค์นี้ได้มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงมาก
คือ รูปเคารพนางปรัชญาปารมิตา และรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กร
ปัจจุบันนี้ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อาคารผังสี่เหลี่ยมที่มีสองชั้นและมีเสากลมขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักของชั้นบนนี้
ซึ่งไม่ได้สร้างบันไดถาวรขึ้นสู่ชั้นบน
คงใช้บันไดไม้พาดที่เคลื่อนย้ายได้มีลักษณะคล้ายๆกับอาคารเก็บสมุดหนังสือในสถาปัตยกรรมแบบกรีกโรมัน
อาคารรูปแบบนี้ไม่พบในที่อื่นใดของเมืองพระนครหรือในเมืองนครธม
น่าจะมาจากการสร้างเลียนแบบจากผังอาคารของกรีกโรมันที่นำเข้ามาโดยพวกพ่อค้า


Powered by ScribeFire.

No comments: