Saturday, January 26, 2008

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

ที่ตั้ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รวมระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ ๓๒๐กิโลเมตร เมืองพิมายโบราณ ตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ และมีสาขาของแม่น้ำมูลไหลผ่านรอบเมือง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมืองพิมายซึ่งรวมทั้งพื้นที่ของ อุทยานประวัติศาสตร์พิมายไว้ด้วย

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองพิมายได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุระหว่าง ๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว รวมไปถึงหลักฐานของอิทธิพลวัฒนธรรมของทวารวดี ที่คงเคยมีโบราณสถานอยู่ภายในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาได้มีการรื้อทำลาย และสร้างศาสนสถานตามคติความเชื่อของตนเองขึ้นมาแทน เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะเขมร คือมีกำแพงเมืองและคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน จากจารึกที่พบอยู่บนซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย ได้กล่าวถึงศักราช พ.ศ. ๑,๖๕๑ - ๑,๖๕๕ กล่าวถึงพระนามพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ และจากหลักฐานทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่ปราสาทหินพิมายจะอยู่ระหว่างปลายศิลปเขมรแบบบาปวน และตอนต้นของแบบนครวัด คือราวตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สืบมาจนถึงสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๖๒) ได้ทรงโปรดให้สร้างพระรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้ในปรางค์พรหมทัต ภายในบริเวณปราสาทหินพิมาย เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗ และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายก็คงยังอยู่แต่ลดบทบาทลง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

เมืองพิมายกลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงรวบรวมผู้คนมาตั้งตัวเป็นใหญ่เรียกว่า ก็กเจ้าพิมาย ขึ้นที่เมืองพิมาย แต่ในที่สุดก็ถูก พระเจ้าตากสินมหาราช ปราบปรามจนราบคาบ ใน พ.ศ.๒๓๑๑

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงปรากฏตำแหน่งหลวงปลัดพิมายอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๓๖๙ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง พ.ศ. ๒๓๖๙ เมืองนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์ได้รวมกันเป็น มณฑลนครราชสีมา เมืองพิมายจึงมีฐานเป็นอำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดนครราชสีมาจนถึงปัจจุบันนี้

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ และ พ.ศ.๒๕๑๙ - ๒๕๓๒ กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และทำการบูรณะปรับปรุงจนแล้วเสร็จ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมจนถึงปัจจุบัน

No comments: