Monday, February 4, 2008

ปราสาทนาคพัน

ปราสาทนาคพัน (ศิลปะแบบบายน พ.ศ.1724-1780)

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นกลางบาราย “ชัยตฏากะ” แต่ในปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเมืองพระนครหลวง
ชื่อเดิมของปราสาทแห่งนี้ปรากฏอยู่ในจารึกว่า “ราชัยศรี”
ส่วนชื่อปราสาทในปัจจุบันเรียกว่า “นาคพัน” นั้นได้มาจากรูปนาคสลักจากศิลา 2 ตนพันกันล้อมรอบฐานล่างสุดของปราสาท

คำว่า “ราชัยศรี” ศ.ฌอง
บวซเซอลิเย่ร์ ตีความว่าหมายถึง เครื่องเสริมพระราชอิสสริยยศ
ตั้งอยู่ทางทิศมงคล คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง
แผนผังของปราสาทนาคพันแสดงให้เห็นถึงรูปสัญลักษณ์ของสระอโนดาต
หรือสระพนงต์ปตา หมายถึง สระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งภูเขาหิมาลัย
สระน้ำนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา,
แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำพรหมบุตร
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ศาสนาว่าเป็นสระน้ำที่บริสุทธิ์เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง
4 สายที่ไหลมาหล่อเลี้ยงมนุษย์โลก
น้ำในสระอโนดาตจะไม่เหือดแห้งตราบใดที่ยังไม่ถึงวาระสุดท้ายแห่งกัลป์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ทรงโปรดให้สร้างรูปสัญลักษณ์แห่งสระอโนดาตขึ้นในราชอาณาจักรของพระองค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้แก่ชาวเขมรว่า
ราชอาณาจักรของพระองค์จะมีอายุยืนยาวนานเท่านานชั่วกัลป์

สัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยแผนผังของศาสนสถานที่ประกอบด้วยสระน้ำ
5 สระ โดยมีสระรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 70 x 70 เมตรอยู่ตรงกลาง
รอบสระกรุด้วยศิลาเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ
และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเชื่อมต่อสระใหญ่ที่ด้านข้างตรงทิศทั้งสี่ที่ขอบสระใหญ่ตรงกลางทั้งสี่ทิศที่เชื่อมต่อด้านข้างนั้น
มีซุ้มขนาดเล็กภายในซุ้มมีท่อน้ำและที่ปากท่อทำเป็นรูปต่างๆ กัน คือ
ด้านทิศเหนือเป็นรูปเศียรช้าง (ธาตุน้ำ), ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปหน้าคน
(ธาตุดิน) ถ้าเป็นคติพราหมณ์ ทำเป็นรูปโค, ด้านทิศใต้เป็นรูปสิงห์
(ธาตุไฟ) และด้านทิศตะวันตกเป็นรูปม้า (ธาตุลม)
เชื่อกันว่าภายในซุ้มนี้ใช้สำหรับการอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์
เพราะมีแท่นหินที่แกะสลักลงไปเป็นรูปรอยเท้ารองรับอยู่ที่พื้น
และที่หน้าบันของซุ้มเล็กๆ
เหล่านี้มีภาพสลักเล่าเรื่องในพระพุทธศาสนาตอนต่างๆ

กลางสระเป็นที่ตั้งของปราสาทขนาดเล็กหนึ่งหลัง
สร้างด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 14 เมตร
ฐานกลมนี้สร้างลดหลั่นเป็นขั้นบันได ส่วนล่างสุดมีรูปนาคศิลาพันรอบฐาน 2
ตัว
ถัดจากฐานกลมขึ้นไปเป็นฐานรูปดอกบัวขนาดใหญ่รองรับตัวปราสาทที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท
มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก
อีกสามด้านก่อเป็นผนังทึบสลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดับอยู่
ที่หน้าบันแต่ละด้านสลักภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติทั้งหมด
ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปตอนพระพุทธเจ้าตัดเกศ
ทิศเหนือเป็นเรื่องเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ทิศตะวันตกเป็นเรื่องของพระป่าเลไลยก์ และ ทิศใต้เป็นเรื่องมารวิชัย

ภายในสระใหญ่นี้
ยังมีประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทิศทั้งสี่อีกด้วย
ร่องรอยหลักฐานที่เหลือนั้นทำให้ทราบว่าด้านทิศเหนือเป็นรูปศิวลึงค์
ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปม้า และด้านทิศตะวันตกเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
ส่วนทิศใต้นี้ไม่ทราบว่าเป็นรูปอะไรแน่
ในปัจจุบันประติมากรรมรูปม้าได้รับการบูรณะจนสมบูรณ์ และตั้งอยู่ในสระ
เป็นรูปม้ามีผู้คนเกาะห้อยอยู่ด้านข้างม้าตนนี้เป็นม้าวิเศษที่ชื่อว่า
“ม้าอัศวพาหุ หรือม้าวลาหก (พลาหะ)”
ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำแลงลงมาเพื่อช่วยเหลือชาวเรือแตกที่ไปอาศัยอยู่เกาะที่เป็นที่อยู่ของนางยักษี
แต่ก่อนที่จะถูกยักษ์จับกิน
ชาวเรือพากันสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา
พระองค์ก็เสด็จลงมาช่วยเหลือในร่างของม้าพาชาวเรือแตกรอดมาได้

ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ได้กล่าวว่า
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ประดิษฐานเทวรูป 14 รูป และศิวลึงค์อีก 1,000
องค์ ถึงแม้ว่าจะไม่พบหลักฐานดังกล่าวเหลืออยู่ในสมัยหลัง
แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของปราสาทนาคพันและสระน้ำนี้
ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประทับของเหล่าเทพเทวดาทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 เป็นอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์มั่นคงไม่มีใครมาทำลายได้ ปัจจุบัน
ปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธชัยนาคมุนี
เป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่นำมาประดิษฐานภายหลัง ส่วนองค์เดิม
บวซเซอลิเย่สันนิษฐานว่า
ถูกกองทัพสยามทำลายหรือยึดไปครั้งยกทัพตีนครธมในปีพ.ศ.1974

ข้อสังเกต
พระเจ้าชัยวรมันที่
7 เป็นผู้ที่สนใจการสาธารณสุขอย่างจริงจัง
อย่างที่ทรงสร้างอโรคยาศาลาไว้มากมายตามเส้นทางต่างๆ
การสร้างอ่างน้ำพิเศษนี้ขึ้นอยู่ท่ามกลางสระน้ำบาราย “ชยตฎากะ”
โดยทำเป็นเขื่อนกั้นรอบอ่างน้ำนาคพัน
มีการวางแผนในการกักเก็บน้ำที่สะอาดและให้มีใช้ได้ตลอดปี
โดยการทำอ่างน้ำล้นรอบอ่างใหญ่สี่ด้านเพื่อให้สงวนน้ำที่สะอาดเป็นส่วนกลาง
ช่วงน้ำหลาก
ช่วงหน้าฝนน้ำจากอ่างใหญ่จะมีการระบายน้ำออกไปยังอ่างย่อยสี่อ่าง
และน้ำจากสระบารายก็ไม่ระบายเข้ามาถึงอ่างด้านในซึ่งมีเขื่อนดินกั้นขวาง
ช่วงหน้าแล้งก็จะทดน้ำเข้ามากักเก็บในอ่างน้ำด้านในเพื่อให้มีน้ำสะอาดใช้
ขณะที่น้ำในสระบารายชยตฎากะก็จะแห้งไปตามฤดูกาล
การมีน้ำสะอาดใช้ก็จะช่วยให้ผู้คนที่เจ็บป่วยหายไข้ได้ดีกว่าใช้น้ำที่ไม่สะอาด
พอผ่านหน้าโรงพยาบาล (มนเฑียรแพทย์) ชัยวรมันที่ 7
เห็นสัญลักษณ์คือรูปพระเศียรขนาดใหญ่ของท่าน ก็คิดสมญาท่านว่า
บิดาแห่งการสาธารณสุขผู้ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา


Powered by ScribeFire.

ปราสาทพระขรรค์

ปราสาทพระขรรค์
(ศิลปะแบบบายน พ.ศ.1724-1780)


พระเจ้าชัยวรมันที่
7 โปรดให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1734
ในบริเวณที่พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพวกจามเมื่อคราวที่ทำสงครามกู้อิสรภาพ
สร้างถวายพระบิดาของพระองค์ คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2
ภายใต้รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้มีพระนามว่า “ศรีชัยวรเมศวร”
ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
(พระโลเกศวรเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
แต่ได้ทรงปฏิเสธที่จะเข้าสู่ปรินิพพาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยสัตว์ทั้งหลาย
ไม่เฉพาะแต่ความเป็นอยู่เท่านั้น แต่จากภัยพิบัติต่างๆ ด้วย
พระองค์มีพระนาม โลเกศวร ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งโลก หรือ อวโลกิเตศวร
คือ ผู้ที่มองลงมาจากเบื้องบนด้วยความเมตตากรุณา)

แผนผังของปราสาทพระขรรค์มีลักษณะคล้ายเมืองพระนครหลวง
แต่มีขนาดเล็กกว่า และสร้างขึ้นก่อนพระนครหลวง
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเดิมนั้นเมืองที่ปราสาทพระขรรค์นั้นอาจจะเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ในช่วงระยะเวลาที่พระนครหลวงยังสร้างไม่เสร็จ
ที่นี่พบจารึกซึ่งทำให้เรารู้ถึงเรื่องราวต่างๆ
ในสมัยของพระเจ้าชัยวมันที่ 7 มากมาย เช่น มีการสร้างประติมากรรมขึ้นถึง
515 องค์, มีการสร้างสถานพยาบาลหรืออโรคยศาลาขึ้น (ทั้งหมด 102 แห่ง)
เพื่อเป็นที่บำบัดทุกข์ให้แก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร
ถวายแด่พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่มวลมนุษย์ ทรงบาตร
หม้อน้ำมนต์ หรือผลสมอในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์,
มีการสร้างบ้านมีไฟหรือที่พักคนเดินทางขึ้น (ทั้งหมด 121 แห่ง)
ตามเส้นทางต่างๆ ในราชอาณาจักร
และทราบถึงเรื่องราวของปราสาทพระขรรค์ในอดีตด้วย คือ
เมืองที่ปราสาทพระขรรค์นั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า ชัยศรี (แปลว่า
โชคลาภแห่งชัยชนะ) ชื่อพระขรรค์เป็นชื่อที่เรียกกันในปัจจุบัน (คำว่า
พระขรรค์ หมายถึง พระแสงดาบอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีนามเต็มว่า
พระแสงขรรค์ชัยศรี
ชาวเขมรนับถือว่าเป็นพระแสงดาบอันศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเขมร)
นอกจากนี้
ยังกล่าวว่ามีเมืองชัยศรีเป็นที่อยู่ของผู้คนที่เป็นผู้รับใช้ประจำศาสนสถานและนักบวชถึง
97,840 คน
และมีนักฟ้อนรำสำหรับพิธีทางศาสนาและงานฉลองประจำปีที่มีขึ้นที่ปราสาทพระขรรค์นี้ถึง
1,000 คน

ขอบเขตชั้นนอกสุดเป็นคูน้ำกว้าง 40 เมตร
ล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาด 700 x 800 เมตร
คูน้ำแต่ละด้านจะมีทางเดินข้ามคูน้ำไปสู่ประตูทางเข้าของกำแพงชั้นนอกสุดที่ก่อด้วยศิลาแลง
สองข้างทางเดินข้ามคูน้ำประดับด้วยภาพสลักขนาดใหญ่เป็นรูปเหล่าอสูรและเทวดากำลังยุดนาค
เช่นเดียวกับที่พบที่เมืองพระนครหลวงราชธานี
ทางเดินข้ามคูน้ำทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้น
เชื่อมต่อมาจากทางเดินเข้าทางด้านนอกสุดที่มีเสานางเรียงประดับอยู่สองข้างทางด้วย


มีประตูทางเข้าขนาดใหญ่ 3 ประตูที่ก่อเป็นซุ้มยอดปราสาท
ภายในเขตกำแพงชั้นนอกสุดนี้กว้างใหญ่มาก
และมีทางเดินนำไปสู่กลุ่มศาสนสถานที่ตั้งรวมกลุ่มอยู่ในบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมที่มีความกว้างยาวเพียง
220 x170 เมตรที่ตั้งอยู่ตรงกลางค่อนไปทางทิศตะวันออก
บริเวณรอบนอกนี้คงจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมากที่มีกล่าวไว้ในจารึกนั่นเอง

ที่น่าสนใจที่สุด
ได้แก่ อาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ก่อด้วยศิลาทราย
ชั้นล่างสุดไม่มีผนังมีแต่เพียงแนวสันหินที่ก่อเป็นเสากลมขนาดใหญ่มาก
รองรับอาคารชั้นบนที่มีผนังเจาะเป็นช่องหน้าต่างขนาดใหญ่
ส่วนหลังคาก่อเป็นรูปวงโค้งแต่พังทลายไปหมดแล้ว ที่น่าแปลกใจก็คืออาคาร 2
ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้นไปสู่ชั้นบน


ภายในระเบียงคตชั้นในสุด
ยังมีปราสาทขนาดเล็กและอาคารชั้นรองอีกเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปราสาทเล็กๆ ราว 23 หลังหรือมากกว่านั้น
ซึ่งคงจะสร้างเพิ่มเติมขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่บรรดาพระราชวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแแล้ว
ศาสตราจารย์เซเดส์เรียกกลุ่มปราสาทเล็กๆ นี้ว่า สุสานแห่งครอบครัว

ภาพสลักที่ปราสาทพระขรรค์
แสดงเป็นภาพเล่าเรื่องทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู และที่งดงามมากได้แก่
ภาพสลักรูปนางอัปสรกำลังฟ้อนรำบนทับหลัง
และนางอัปสรยืนอยู่ภายในซุ้มประดับอยู่ตามผนังของประตูทางเข้าของปราสาทและระเบียงคต
รวมทั้งภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ และภาพตรีมูรติ

ยังพบภาพสลักรูปผู้หญิง
2 ภาพที่สลักอยู่ภายในซอกหลืบ เชื่อว่าเป็นภาพของพระนางชัยราชเทวี
และพระนางอินทรเทวี ซึ่งทั้งสองเป็นพี่น้องกัน
และเป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ในปราสาทประธาน
มีเจดีย์เล็กๆ อยู่องค์หนึ่ง
บางคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
บางคนเชื่อว่าบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 พระราชบิดา
บางคนเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยหลังเมื่ออยุธยาได้แผ่อิทธิพลไปถึง

นอกจากนี้
ที่ปราสาทพระขรรค์นี้ได้มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงมาก
คือ รูปเคารพนางปรัชญาปารมิตา และรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กร
ปัจจุบันนี้ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อาคารผังสี่เหลี่ยมที่มีสองชั้นและมีเสากลมขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักของชั้นบนนี้
ซึ่งไม่ได้สร้างบันไดถาวรขึ้นสู่ชั้นบน
คงใช้บันไดไม้พาดที่เคลื่อนย้ายได้มีลักษณะคล้ายๆกับอาคารเก็บสมุดหนังสือในสถาปัตยกรรมแบบกรีกโรมัน
อาคารรูปแบบนี้ไม่พบในที่อื่นใดของเมืองพระนครหรือในเมืองนครธม
น่าจะมาจากการสร้างเลียนแบบจากผังอาคารของกรีกโรมันที่นำเข้ามาโดยพวกพ่อค้า


Powered by ScribeFire.

ปราสาทปักษีจำกรง

ปราสาทปักษีจำกรง
(รูปแบบสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในแบบศิลปะเกาะแกร์ พ.ศ.1464-1490)
พระเจ้าหรรษะวรมันที่
1 (พ.ศ.1450-1465) โปรดให้สร้างขึ้นในราวปีพ.ศ.1465 ในยุคศิลปะแบบเกาะแกร์
เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาและมารดา
ประกอบด้วยปราสาทอิฐหลังเดียวอยู่บนฐานศิลาแลง 3 ชั้น
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทับหลังแกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
เทพผู้รักษาทิศตะวันออก จารึกภาษาสันสกฤตบนกรอบประตูทั้งสองด้านกล่าวว่า
พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1
โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชบิดาและพระราชมารดา
โดยโปรดให้ประดิษฐานรูปเคารพพระศิวะและพระอุมาไว้
ต่อมาพระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ.1487-1511) มาซ่อมแซมในราว พ.ศ.1490
ด้วยการประดับปูนปั้นสีขาว

ชื่อปราสาทปักษีจำกรงเป็นชื่อเรียกตามนิยายพื้นบ้าน
เพราะไม่พบจารึกบอกชื่อของปราสาท ซึ่งชื่อมักจะมาจากภาษาสันสกฤต
เพราะว่าสร้างในศาสนาฮินดู หรือไม่ก็ศาสนาพุทธลัทธิมหายาน
เมื่อไม่พบจารึกก็ไม่สามารถทราบชื่อเดิมของปราสาทได้
นิยายโบราณที่เล่าสืบต่อกันมานั้นมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งมีข้าศึกยกทัพมาประชิดเมืองพระนคร
กษัตริย์ก็หลบหนีข้าศึกมาหลบซ่อนอยู่ข้างนอก ข้าศึกเกือบจะจับตัวได้แล้ว
แต่มีนกใหญ่ตัวหนึ่งบินมากางปีกคุ้มกันกษัตริย์ให้หนีจากข้าศึกได้
และรวบรวมไพร่พลขึ้นมาต่อสู้ข้าศึกจนชนะและกลับมาครองราชย์อีกครั้ง
จึงสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นกตัวนี้ และให้ชื่อว่า
ปราสาทปักษีจำกรง
คำว่า “กรง” ที่มีความหมายว่าเมืองใหญ่
ที่ตรงกับคำไทยว่า “กรุง” กับกลายเป็นที่อยู่ของนกในความเข้าใจของคนไทย
ก็น่าจะมาจากนิทานนกอยู่กรงหรือปักษีจำกรงของกัมพูชา

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คิดว่าปราสาทแห่งนี้คงเป็นต้นเค้าของการเอาศพใส่โกศของไทย จริงๆ
แล้วธรรมเนียมการใส่ศพในโกศของเราเป็นธรรมเนียมของพราหมณ์
ไม่เกี่ยวกับพุทธเลย
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้คนที่ตายแล้วไปอยู่รวมกับพระอิศวร
จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป คำเดิมของคำว่า “โกศ” แปลว่า
“ที่ครอบศิวลึงค์” และศิวลึงค์ก็คือพระอิศวรนั่นเอง

ตรงผนังด้านในของกรอบประตูปราสาทปักษีจำกรงนี้
มีจารึกอักษรเขมรที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับบรรพบุรุษ บรรพสตรีของชาวเขมร
โดยกล่าวถึงชื่อศรีกัมพุชและเมรา
ซึ่งเป็นบุรุษและสตรีคู่แรกของดินแดนแห่งนี้ (เหมือนๆกับ อดัมส์กับอีฟ
นั่นแล) ที่มาของชื่อแผ่นดินนี้ คือกัมพูชา ที่แปลว่าผู้สืบทอดมาจากกัมพุช
และคำว่าเขมร ที่หมายถึงเหล่าคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งกัมพุช
ที่มีต้นคำจากเมรา นี่คือจารึกเมื่อประมาณเกือบ 1 พันปีมาแล้ว

Powered by ScribeFire.

Tuesday, January 29, 2008

โปรดเกล้าฯ สมัครเป็นนายกฯคนที่ 25

นายสมัคร สุนทรเวช

เวลาประมาณ 17.30 น.วันนี้ (29 ม.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน
ได้แถลงเปิดใจภายหลังจาก รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ที่บ้านพักซอยนวมินทร์

“กระผม นายสมัคร สุนทรเวช ขอสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯไว้วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้ ผมทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ขอเรียนท่านที่เคารพที่มาร่วมในงานนี้ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาร่วมในการแสดงความยินดีในงาน ซึ่งผมจะมารับหน้าที่ซึ่งร่วมกับ ท่านทั้งหลายในบางส่วนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน

กระผมเดินทางมาในเรื่องของการเมือง ตลอดชีวิตผมค่อนชีวิต อยู่ในวงการเมืองตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น จนมาเป็นการเมือง ระดับชาติ เป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี แล้วก็ย้อนกลับไปทำงานท้องถิ่น และก็ตั้งใจว่าจะเกษียณอายุ ทางการเมืองในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ทำหน้าที่อยู่เพียง 5 เดือน ก็เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ


เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ได้มีโอกาสและมีผู้คนที่รวบรวมกันมา สามารถจะตั้งพรรคการเมืองซึ่งมี จิตวิญญาณทางการเมือง ซึ่งผู้คนนั้นยังมีศรัทธาอยู่ผมก็รับทำหน้าที่ ขอประกาศให้ท่านทั้งหลายได้ทราบทั่วกันว่าผมเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ชื่อ พรรคพลังประชาชน ผมมีสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งมา 233 คน แล้วก็มาจัดคณะรัฐมนตรีตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด แล้วก็จะเริ่มดำเนินการ เมื่อได้เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตามกฎหมายแล้ว ตามหน้าที่แล้ว ก็จะทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองนี้

อ่านข่าวนี้ต่อ จาก ผู้จัดการออนไลน์
29 มกราคม 2551 19:50 น.

Monday, January 28, 2008

นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน นายกฯ คนที่ 25

“สมัคร”สมหวังตอนแก่ ส.ส. 6 พรรคร่วมรับบท“ฝักถั่ว” 310 คน ออกเสียงหนุนเป็นนายกฯ คนที่ 25 ของประเทศไทย ส่วน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ ปชป.เสนอแข่งได้ 163 เสียง

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้(28ม.ค.) ผลปรากฏว่า สมาชิกสภาฯ จาก 6 พรรคร่วมรัฐบาลลงมติเลือกนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน 310 เสียง ส่วนนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 163 เสียง เป็นอันว่านายสมัคร ได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย ในวัย 73 หลังจากเข้าสู่วงการเมืองมาเกือบ 40 ปี
สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ควบคุมการประชุมนัดแรกของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยความร้อนแรง เมื่อนายชำนิ ศักดิเศรษฐ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอว่า ควรให้ผู้เสนอตัวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ซึ่งนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าควรให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน มีปัญหาคดีความต่างๆ ทั้งโทษจำคุก หรือแม้แต่คดีทุจริตรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร
การอภิปรายของพิเชษฐ ทำให้ ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนไม่พอใจและลุกขึ้นอภิปรายอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ประชุมจะมีมติ 306 เสียง ต่อ 145 เสียง ไม่ต้องให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ และเดินหน้ากระบวนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเปิดเผย ด้วยการขานชื่อสมาชิก ซึ่งบรรดาหัวหน้าพรรคการเมือง อย่าง พรรคชาติไทย และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ต่างโหวตให้นายสมัคร ขาดเพียง ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ส.ส.สัดส่วน จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2551 12:36 น.
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000011273

Saturday, January 26, 2008

บก.สส.หวั่น’เขมร’ดันขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

กระทบไทยเสียดินแดน
พล.ท.พิชษณุ ปุจฉาการ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงผลการประชุมสภากลาโหม ว่า กองบัญชาการทหารสูงสุด สรุปผลการประชุมเรื่องการบูรณาการเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระ วิหารเป็นมรดกโลกให้ที่ประชุมรับทราบว่า ท่าทีของประเทศกัมพูชายังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ให้ได้ โดยพยายามเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ร่วมให้ความเห็นชอบ และมีการสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ฝ่ายกัมพูชา นอกจากนี้ ยังแสดงท่าทีข่มขู่ฝ่ายไทยว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งขั้นรุนแรงได้ หากไทยพยายามขัดขวางเรื่องนี้

พล.ท.พิชษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะหากการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกกระทำสำเร็จ จะทำให้ดินแดนปราสาทพระวิหารได้รับการยอมรับว่าเป็นของกัมพูชาโดยปริยาย อาจส่งผลให้ไทยต้องเสียดินแดนดังกล่าว รวมทั้งผลประโยชน์ที่พึงได้ หากไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาปราสาทพระวิหาร ขณะเดียวกัน หากการขึ้นทะเบียนไม่สำเร็จก็อาจกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยกับกัมพูชาได้

‘ประเทศไทยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น จำเป็นต้องกำหนดท่าที ดังนี้ 1.ให้มีการประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยอาศัยช่องทางการทูตและองค์กรระหว่างประเทศ และต้องประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศเข้าใจถึงความพยายามร่วมมือของไทยต่อกรณี ดังกล่าว 2.ประณามการกระทำของกัมพูชาที่เห็นประโยชน์ส่วนตนในการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยลำพัง รวมทั้งกัมพูชาพยายามสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จและชักชวน ประเทศต่างๆ ให้เห็นชอบและช่วยเหลือตน’ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว

พล.ท.พิชษณุ กล่าวอีกว่า และ 3.รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับความเร่งด่วนเป็นวาระระดับชาติ โดยให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมมือผนึกกำลัง เพื่อดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และติดตามสถานการณ์เตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ทราบว่ารัฐบาลใหม่จะแต่งตั้งให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะให้ พล.อ.ชวลิต เข้ามาดูแลและติดตามเรื่องนี้ เพราะท่านเป็นคนที่มีประสบการณ์และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกัมพูชา จึงน่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดี

เมื่อถามว่า หลักฐานที่กัมพูชาพยายามสร้างให้เป็นเท็จคืออะไร พล.ท.พิชษณุ กล่าวว่า เป็นการสร้างหลักฐานเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน นอกจากนี้ หากไทยไม่ยอมเขาจะสร้างท่าทีไม่พอใจตามแนวชายแดน ซึ่งอาจจะกระทบกับประชาชนตามแนวชายแดน ทั้งนี้ กองทัพได้เน้นย้ำกองกำลังที่อยู่ตามแนวชายแดนเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นว่ารัฐบาลใหม่ต้องผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระ ของชาติโดยเร่งด่วน
ข่าวจาก Matichon-On Line :: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=17846&catid=6

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

ที่ตั้ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รวมระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ ๓๒๐กิโลเมตร เมืองพิมายโบราณ ตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ และมีสาขาของแม่น้ำมูลไหลผ่านรอบเมือง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมืองพิมายซึ่งรวมทั้งพื้นที่ของ อุทยานประวัติศาสตร์พิมายไว้ด้วย

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองพิมายได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุระหว่าง ๒,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว รวมไปถึงหลักฐานของอิทธิพลวัฒนธรรมของทวารวดี ที่คงเคยมีโบราณสถานอยู่ภายในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาได้มีการรื้อทำลาย และสร้างศาสนสถานตามคติความเชื่อของตนเองขึ้นมาแทน เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะเขมร คือมีกำแพงเมืองและคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน จากจารึกที่พบอยู่บนซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย ได้กล่าวถึงศักราช พ.ศ. ๑,๖๕๑ - ๑,๖๕๕ กล่าวถึงพระนามพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ และจากหลักฐานทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่ปราสาทหินพิมายจะอยู่ระหว่างปลายศิลปเขมรแบบบาปวน และตอนต้นของแบบนครวัด คือราวตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สืบมาจนถึงสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๖๒) ได้ทรงโปรดให้สร้างพระรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้ในปรางค์พรหมทัต ภายในบริเวณปราสาทหินพิมาย เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗ และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายก็คงยังอยู่แต่ลดบทบาทลง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

เมืองพิมายกลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงรวบรวมผู้คนมาตั้งตัวเป็นใหญ่เรียกว่า ก็กเจ้าพิมาย ขึ้นที่เมืองพิมาย แต่ในที่สุดก็ถูก พระเจ้าตากสินมหาราช ปราบปรามจนราบคาบ ใน พ.ศ.๒๓๑๑

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงปรากฏตำแหน่งหลวงปลัดพิมายอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๓๖๙ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง พ.ศ. ๒๓๖๙ เมืองนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์ได้รวมกันเป็น มณฑลนครราชสีมา เมืองพิมายจึงมีฐานเป็นอำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดนครราชสีมาจนถึงปัจจุบันนี้

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ และ พ.ศ.๒๕๑๙ - ๒๕๓๒ กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และทำการบูรณะปรับปรุงจนแล้วเสร็จ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมจนถึงปัจจุบัน